เมื่อซื้อบ้านแล้วหลายคนอาจเกิดปัญหาหลังเข้าอยู่ได้ หากไม่มีการตรวจรับบ้านก่อนการโอนกรรมสิทธิ์ เพราะฉะนั้นการตรวจรับบ้านก่อนโอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ คนรักบ้านบางคนอาจเลือกใช้วิธีจ้างบริษัทรับตรวจบ้านมาดูแลในเรื่องนี้ แต่ใครที่ไม่อยากเสียเงินให้กับตรงนี้ก็สามารถตรวจบ้านด้วยตัวเองได้เหมือนกัน
ก่อนการตรวจบ้าน
– เตรียมความพร้อมให้ร่างกายเพราะอาจจะต้องใช้เวลาทั้งวันในการตรวจบ้าน และต้องปีนหรือใช้ร่างกายเยอะ
– อ่านสัญญาซื้อ-ขาย รวมถึงข้อมูลของบ้าน เนื้อที่ พื้นที่ใช้สอย ขนาดของส่วนต่างๆ ให้ละเอียด
– ติดต่อนัดหมายวันที่และเวลากับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายขาย QC โฟร์แมน และควรนัดในวันหยุดและช่วงเช้า เพื่อที่จะได้มีเวลาในการตรวจมากพอ
– เตรียมอุปกรณ์สำหรับตรวจ
อุปกรณ์การตรวจ
– กระดาษ ปากกา ดินสอ ยางลบ ใช้จดรายละเอียดของจุดที่ต้องแก้ไข
– เทป ต้องเป็นเทปที่จะไม่ทำให้พื้นเป็นรอย เช่น เทปพันสายไฟ เตรียมไว้ทำสัญลักษณ์ตรงจุดที่ต้องการแก้ไข
– กรรไกร/คัตเตอร์ ใช้ตัดเทป
– ตลับเมตร ใช้วัดพื้นที่
– ไม้ตรง เรียบ และยาว ใช้วัดความเรียบของพื้นผิว
– ลูกแก้ว ใช้ดูความลาดเอียงหรือหลุมบนพื้น
– ไดร์เป่าผม ทดสอบปลั๊กไฟว่าใช้การได้หรือไม่
– โทรศัพท์บ้าน ทดสอบระบบโทรศัพท์
– ไขควงวัดไฟ ทดสอบว่าไฟรั่วหรือไม่
– ค้อนหัวยาง ทดสอบกระเบื้อง
– บันได สำหรับปีนดูฝ้า
– ไฟฉาย ส่องดูสีผนัง เพดานและบนฝ้าที่มีความมืด
– ดินน้ำมัน ทดสอบระบบระบายน้ำ
– สายยาง ทดสอบการรั่วซึมของขอบยางประตูและหลังคา
– กล้องถ่ายรูป ถ่ายทุกจุดทั้งแบบโดยรวมและเฉพาะจุด
สิ่งที่ต้องตรวจ
– รั้ว ต้องตั้งตรง ไม่ลาดหรือเอียง ดูตามรอยเชื่อมไม่ให้มีรู ดูว่ามีการทาสีเรียบเสมอกันและลงน้ำยากันสนิมแล้ว ทดสอบบานเลื่อนและล้อต้องไม่ฝืดหรือลื่นเกินไป
– ผนัง ใช้ไฟฉายส่องดูว่ามีรอยร้าวหรือไม่ หรือจุดไหนที่มีเชื้อรา
– กระเบื้อง ต้องเรียบ ไม่บิ่น ไม่ร่อน หากเคาะแล้วเสียงของกระเบื้องแผ่นนั้นต่างจากแผ่นอื่นแปลว่ากาวปูกระเบื้องไม่แน่นต้องแก้ไข
– วงกบ ทั้งประตูและหน้าต่างต้องไม่มีน้ำรั่วซึมเมื่อทดลองฉีดน้ำเข้าไป ดูว่าเก็บสีเรียบร้อยหรือไม่
– หลังคา ต้องใช้บันไดไต่ขึ้นไปบนฝ้าเพื่อเช็ครอยรั่ว
– ฝ้า ต้องเรียบเสมอกัน รวมถึงตรวจสอบการเดินสายไฟไปด้วย
– ระบบสุขาภิบาล ทั้งถังบำบัด บ่อพักน้ำ ฯลฯ ต้องไม่มีเศษขยะหล่นลงไป
– ห้องน้ำ
– ก๊อกน้ำ เปิด-ปิดสะดวกไม่ฝืดหรือหลวม ไม่มีรั่วซึม
– อ่างล้างหน้า ตำแหน่งและความสูงต้องถูกต้อง ไม่มีคราบ
– ชักโครก กดน้ำแล้วไม่ติดขัด ยาแนวเรียบ
-ระบบไฟ ต้องตรวจทั้งหมด ตั้งแต่เบรกเกอร์ การเดินสายไฟ สายดิน เต้ารับ ว่ามีการรั่วไหลหรือจุดไหนที่ใช้การไม่ได้
การตรวจรับบ้านด้วยตัวเองไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนอยากมีบ้านและรักบ้านทุกคน เพราะฉะนั้นสละเวลามาดูแลจุดนี้กันหน่อย เพื่อให้มีบ้านดีๆ อยู่กับเราไปอีกนานๆ และอย่าลืมว่าในการตรวจต้องจดและถ่ายรูปไว้ทุกจุดพร้อมแจ้งปัญหาให้ได้รับการแก้ไขก่อนก่อนเซ็นเอกสารการโอน เพราะหากโอนไปแล้วจะแก้ไขได้ยาก